16 เม.ย. 2554

เที่ยวสงกรานต์บ้านเขมรที่โอเสม็ด

เมื่อวันที่ 15-16 เมษายน 2553 ผมและคณะได้เดินทางไปเยี่ยมเพื่อนฝูงเขมรทางฝั่งกัมพูชา การไปเยือนในช่วงสงกรานต์ทำให้ได้เห็นประเพณีและวิถีชีวิตที่น่าสนใจหลายๆ อย่าง

View Visit Osmach in a larger map

หมู่บ้านที่ผมเดินทางไปชื่อหมู่บ้านจำการ์เจก(สวนกล้วย) ตั้งอยู่ในตำบลโอเสม็ด อ.สำโรง จ.อุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา ฟังดูเหมือนไกลแต่หมู่บ้านนี้หากจากจุดผ่านแดนเข้าไปประมาณ 4 กม.เท่านั้น


การเดินทางและการข้ามแดน
คณะเราเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวถึงด่านชายแดนช่องจอม ก่อนจะเดินทางโดยใช้รถมอร์เตอร์ไซค์รับจ้างไปที่บ้านพัก ซึ่งดูเหมือนไม่มีอะไรยุ่งยาก เพียงแต่ว่ก่อนหน้านี้นั้น การเดินทางแค่นี้เป็นเรื่องเสียค่าใช้จ่ายมาก หากเป็นช่วงก่อนจะยกเลิกวีซ่าระหว่างไทย-กัมพูชา เมื่อ 16 ธ.ค. 53 นั้น เราต้องทำวีซ่าซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,100 บาท/คน ในวันนี้ คณะ 6 คน(เป็นเด็กน้อย 2 คน) ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เลย


สำหรับขั้นตอนการเดินทางผ่านแดนนั้น ผมได้เขียนไว้โดยละเอียดแล้ว เมื่อตอนเดินทางไปเที่ยวที่เสียมเรียบ คร่าวๆ คือ เขียนใบ ตม.6 พร้อมยื่นหนังสือเดินทางให้ ตม.ของไทย ก่อนจะไปทำเช่นเดียวกันกับ ตม.ของกัมพูชา (เดิมจะต้องมีขั้นตอนการขอวีซ่าแทรกอยู่ก่อน) มีข้อสังเกตว่าในการประทับตราอนุญาตนั้น จะมีการประทับวันสุดท้ายที่อนุญาตให้เราอยู่ในกัมพูชาเพิ่มเข้าไปด้วย (เข้าวันที่ 15 เม.ย. อยู่ได้ถึง 28 เม.ย.)


การเตรียมเครื่องบวงสรวงเพื่อรับวันสงกรานต์
ทุกๆ บ้านจะเตรียมเครื่องบวงสรวงวางไว้หน้าบ้านเพื่อเป็นการต้อนรับเทพีสงกรานต์ เครื่องบวงสรวงดังกล่าวก็ประกอบด้วยข้าวปลาอาหาร ขนมหวาน ฯลฯ ดังภาพข้างล่าง


ประเพณีรำวงเนื่องในวันสงกรานต์
รำวงเป็นกิจกรรมที่นิยมของชาวเขมรจัดให้มีแทบจะทุกๆ งานรื่นเริง โดยสถานที่รำวงจะมีการตั้งโต๊ะที่มีแจกันและดอกไม้วางอยู่ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมรำเป็นวงรอบ เครื่องดนตรีที่ใช้คือ กลอง(หรือโทน?) และลูกแซก เป็นธรรมเนียมที่ผู้เข้าร่วมจะแต่งกายสุภาพเรียบร้อย ก่อนรำฝ่ายชายต้องโค้งคำนับเชิญฝ่ายหญิง และรำเป็นวงโดยให้ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายรำนำหน้า เมื่อรำเสร็จทั้งคู่ก็จะทำความเคารพกันเป็นเป็นการขอบคุณ ฯลฯ ที่เขียนมาอย่างนี้ผมจำมาจากหนังสือเกี่ยวกับประเพณีรำวง ที่เขียนในปี 1969 นะครับ ตั้งแต่ย่อหน้าต่อไป เรามาดูว่ารำวงในปี 2011 เป็นอย่างไรบ้าง

ในหมู่บ้านจำการ์เจก จัดให้มีการรำวงในบริเวณตลาดห่างจากบ้านพักผมประมาณ 200 เมตรเท่านั้น จะ่ว่าไปเหมือนกับแบ่งการจัดเป็นสองช่วง ช่วงบ่ายๆ บรรดาผู้ใหญ่ก็พากันมารำวง นั่งกินเหล้าเฮฮากัน แต่ดูคล้ายกับธรรมเนียมดั้งเดิม



ส่วนรอบกลางคืนมีสำหรับวัยรุ่น เริ่มเมื่อประมาณสองทุ่ม บรรยากาศคล้ายกับงานสวนสนุกบ้านเรา มีตำรวจคอยตรวจอาวุธที่หน้างาน ในงานนอกจากรำวงแล้ว ก็มีการเล่าปาเป้า เล่นไพ่เพื่อชิงของรางวัล แม่ค้ามาขายของกินสารพัด


สถานที่จัดงานทำเป็นเสาที่มีการโยงธงทิวสวยงาม เครื่องดนตรีเปลี่ยนจากโทนมาเป็นดีเจเปิดแผ่น เพลงก็มีตั้งแต่กันตรึมประยุกต์ แร็พเขมร และเทคโนแดนซ์จากเกาหลี ซึ่งประเภทหลังนี่เรียกคนเข้ามาร่วมได้มากที่สุด ส่วนท่าทางในการรำเดี๋ยวนี้เขาหันมาแดนซ์กันเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นเพลงรำวงที่พอจะรำกันอยู่บ้าง


ผู้ที่เข้าร่วมงานเกือบทั้งหมดเป็นวัยรุ่น อายุเฉลี่ยไม่น่าจะเกิน 25 ปี ถ้าวัยขนาดผมเิดิมเข้าไปเขาคงจะมองแปลก เพราะควรจะมาตอนรอบบ่ายมากกว่า ดังนั้นก่อนจะเข้างานผมก็พาเด็กน้อยหลานเจ้าของบ้านไปด้วย ทำทีเป็นพาเด็กไปเที่ยวจะได้ไม่เขิน

การทำบุญเนื่องในวันสงกรานต์
ช่วงเช้าของวันที่สอง ผมและคณะไปถวายภัตตาหารเพลที่วัดพนมซรูจ(เขาแหลม) อยู่ลึกเข้าไปอีก 3 กม.เห็นจะได้ วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง อีกฟากหนึ่งเป็นหน้าผามองเห็นที่ราบของกัมพูชาได้ไกลทีเดียว วิวแบบนี้เห็นแล้วนึกถึง อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา


พิธีกรรมที่วัดก็คล้ายๆ บ้านเรา เพียงแต่ตอนพระฉัน มีการสวดมนต์ไปพร้อมๆ ด้วย คงกลัวญาติโยมจะเหงากระมัง (ที่บ้านเราช่วงนี้บางทีเจ้าภาพก็ให้เปิดเพลงไทยบรรลงไป หรือมีวงมโหรีก็จะมีการประโคมในช่วงนี้) ระหว่างทานข้าว มรรคทายกบอกว่า ปีนี้ได้เงินบริจาคประมาณ 2,000,000 เรียล (ประมาณ 20,000 บาท)




ในวัดก็พิธีก่อเจดีย์ทราย โดยทางวัดจะเตรียมทรายใส่ถุงเล็กๆ ไว้ให้พร้อมกับธูป เพื่อให้เรานำมาเทใส่เจดีย์ทรายที่ก่อไว้ในโรงพิธี ส่วนธูปนั้นก็ปักลงไปในเจดีย์ทรายนี้ด้วย


ในมุมหนึ่งขอวัดจะมีหมอดูมาทำนายให้ ค่ายกครูก็ถือว่าเป็นเงินเข้าวัดด้วย การทำนายมีหลายแบบอาจจะดูดวงจากวันเดือนปีเกิด หรือแบบที่ดูขลังหน่อยคือการทำนายจากคัมภีร์ โดยการยกคัมภีร์ใบลาน(จริงๆ ทำด้วยกระดาษอัดกรอบพลาสติก) เหนือศรีษะแล้วใช้ที่คั่นกระดาษเล็กๆ เสียบเข้าไป จากนั้นก็อ่านคำทำนายจากหน้าที่คั่นได้ หากมีเคราะห์หมอดูก็จะสะเดาะห์เคราะห์ให้ด้วย


อื่นๆ เกี่ยวกับสงกรานต์เขมร
บรรยากาศการเล่นสาดน้ำก็คล้ายๆ บ้านเรา วัยรุ่นรวมกันเล่นตามถนน ตั้งวงเหล้าพร้อมเปิดเครื่องเสียงกระหึ่ม ปิดถนนสาดน้ำประแป้งคนที่ผ่านไปมา การแต่งกายโดยทั่วไปสาวๆ เขมรจะนุ่งกางเกงขายาวแต่เริ่มมีขาสั้นให้เห็นบางแล้วโดยเฉพาะในงานรำวง

การเล่นน้ำแบบกรอกน้ำใส่ถุงใสแล้วปาใส่กันยังมีให้เห็นทั่วไป การทำแบบนี้นอกจากจะดูอันตรายแล้วยังทำให้ถนนกลาดเกลื่อนไปด้วยเศษถุงพลาสติกจากการเล่น

อื่นๆ เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

หมู่บ้านจำการ์เจก เป็นหมู่บ้านที่รัฐบาลได้จัดสรรที่ทำกินให้กับชาวบ้าน ทุกคนจะได้ที่อยู่อาศัยประมาณ 200 ตารางวา ส่วนที่ที่ใช้ทำไร่นั้นจะอยู่ห่างออกไป ผังของหมู่บ้านจะมีถนนตัดกันเป็นตารางหมากรุกยากที่จะเดินหลง ถนนเป็นลูกรังที่ยังสภาพดีไม่ค่อยมีหลุมบ่อ ไฟฟ้าและน้ำประปานั้นมีใช้แล้วโดยเชื่อมต่อมาจากคาสิโน




ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับการค้าและบริการบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เกือบทั้งหมดเป็นคนที่มาจากถิ่นอื่น รุ่นบุกเบิกนั้นจะมีอายุประมาณ 40-50 ปีที่กลายมาเป็นรุ่นพ่อแม่ มีลูกๆ ที่เป็นวัยรุ่นจำนวนมาก และจะไม่ค่อยเห็นคนแก่รุ่นตายายมากนัก

ส่งท้าย
นี่เป็นการเดินทางไปพักแบบโฮมสเตย์ที่ได้สัมผัสชีวิตแบบบ้านๆ ของชาวกัมพูชาจริงๆ นับเป็นการท่องเที่ยวที่สนุกสนานไปอีกแบบ นอกจากนี้ทำให้เห็นได้ว่า การยกเลิกวีซ่าทำให้การเดินทางข้ามแดนลดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมากและเชื่อว่าจะทำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ มากมายในอนาคต

เิพิ่มเติม
- ชมภาพถ่ายทั้งหมดได้ที่นี่
- ชมแผนที่ปักหมุดได้ที่นี่

3 เม.ย. 2554

โครงการการอบรมเขียน อ่านภาษาเขมรภาคฤดูร้อน 2554 (1 เม.ย. -11 พ.ค.

ตอนนี้งานผมเยอะมาก ทำให้เพิ่งทราบว่า สมาคมภาษาและัวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ ได้ดำเนิน โครงการการอบรมเขียน อ่านภาษาเขมรภาคฤดูร้อน 2554 (1 เม.ย. -11 พ.ค.) ณ วัดบ้านคาบเหนือ ต.เทนมีย์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ใครที่อยู่แถวๆ นั้น หากว่าง(หรือลูกหลานมีเวลาว่าง) ก็เชิญไปร่วมเรียนกันได้นะครับ





เพิ่มเติม
- ดูรูปอื่นๆ เพิ่มเติมไ้ด้ที่นี่